วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เรื่องน่ารู้ : สัญลักษณ์ "@"

ขณะนี้ ในฝรั่งเศส กำลังถกเถียงกันอย่างหนักว่า จะเรียกเจ้าสัญลักษณ์ "@" ที่ใส่นำหน้าอีเมลว่า อะไรดี โดยในปัจจุบันชาวเมืองน้ำหอมเรียกกันอยู่สองแบบคือ "อาโรบาเซ" (arobase) ตามรากศัพท์ภาษาสเปน และ "แอท" (at) ตามรากศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่จู่ๆ คณะกรรมาธิการทั่วไปของฝ่ายประดิษฐ์ถ้อยคำ และการใช้คำของฝรั่งเศสก็เกิดอยากให้เปลี่ยนมาเรียกว่า "อาร์รอบ" (arrobe) ตามการประดิษฐ์คำในภาษาฝรั่งเศสสมัยใหม่ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าฝรั่งเศสจะเปลี่ยนมาเรียกเจ้า "@" ว่า"อาร์รอบ" จริงๆ หรือไม่

ด้านคริสตีน อูฟราร์ด ผู้จัดทำพจนานุกรมให้กับสำนักพิมพ์ลารูสส์ กล่าวว่า คำว่า "อาร์รอบ" มาจาก "อาร์โรบา" (arroba) ซึ่งเป็นรากศัพท์ภาษาสเปน และทางสำนักพิมพ์ได้บรรจุศัพท์คำนี้ไว้ในพจนานุกรมตั้งแต่ปี1998 เนื่องจากมีผู้นิยมใช้มากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครเรียกเจ้า "@" ว่า "อาร์รอบ" เวลาใส่นำหน้าอีเมลของตนเลย

สัญลักษณ์ "@" นี้มีการเรียกแตกต่างกันไป เช่น

ภาษาสเปนเรียกว่า อาร์โรบา (arroba)

ภาษาเยอรมันเรียกแอท (at) แต่ที่ดูจะมีสีสันก็น่าจะเป็น

ภาษาเชก ซึ่งเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ซาวีนัค (zavinac) หมายถึงปลาเค็ม

ภาษารัสเซียเรียกว่าโซบัชกา (sobachka) หมายถึงเจ้าหมาน้อย

ภาษาอิตาลีเรียกว่า ชิออคซีโอลา (Chiocciola)หมายถึงเจ้าทากน้อย และ

ภาษาฮิบรูว์ เรียกว่า สตรูเดล (strudel) หมายถึง เค้กแบบออสเตรีย เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ธรรมะน่าคิด ; "น่าเสียดาย" ข้อคิดดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี


น่าเสียดาย ที่เรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

แต่เรากลับศรัทธาไสยศาสตร์หัวปักหัวปำ

น่าเสียดายที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่แสนดี

แต่เรากลับมีคนโกงกินเต็มบ้านเต็มเมือง

น่าเสียดายที่เรามีวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน/ตำบล

แต่เรากลับมากด้วยคนขาดจริยธรรมอยู่ทั่วไป

น่าเสียดาย ที่เราสถาปนาประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475

แต่เรากลับมีปฏิวัติ/รัฐประหารมาแล้ว14 ครั้ง

น่าเสียดายที่เรามีมหาวิทยาลัยมากมายติดอันดับโลก

แต่เรากลับโชคร้ายที่คนไทยชอบดูดวงบวงสรวงเทพยดา

น่าเสียดายที่เรามีป่าไม้-แม่น้ำ-ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

แต่เรากลับเทิดทูนการทำลายแทนการรักษา

น่าเสียดาย ที่เรามีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเอง

แต่เรากลับเก่ง "การลอกเลียนแบบ" เป็นที่สุด

น่าเสียดายที่เรามีสื่อมวลชนมากมายไร้พรมแดน

แต่เจ็บปวดเหลือแสนเมื่อสื่อมวลชนมุ่งแต่การขายสินค้า

น่าเสียดาย ที่เรามีกฎหมาย

แต่เรากลับปล่อยให้มีการใช้กฎหมู่จนเป็นเรื่องธรรมดา

น่าเสียดาย ที่เรามีหนังสือมากมายหลายพันเล่มในห้องสมุด

แต่สถิติสูงสุดคือเราอ่านหนังสือกันปีละ8 บรรทัด

น่าเสียดายที่เรามีอินเทอร์เน็ตใช้ก่อนเป็นอันดับ 3 ของโลก

แต่เรากลับเสื่อมทรามเพราะใช้ส่งภาพถ่ายคลิปโป๊

เสียดายที่เรามีโทรทัศน์หลายสิบช่อง

แต่เรากลับจ้องจะดูแต่ละครน้ำเน่า

น่าเสียดาย ที่เรามีพ่อแม่อยู่ในบ้าน

แต่เรากลับปล่อยให้ท่านอยู่อย่างเปลี่ยวเหงา

น่าเสียดายที่เราสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้

แต่เรากลับชอบใจที่จะเป็นคนเลวตลอดกาล

น่าเสียดายที่เราเป็นอิสระจากความอยากได้

แต่เรากลับพึงใจอยู่กับการสนองความอยาก

น่าเสียดาย ที่เราบรรลุนิพพานได้ในชาตินี้

แต่เรากลับยินดีอยู่แค่การทำบุญให้ทาน

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เรื่องน่ารู้ : ไม่อยากความจำสั้น...ควรเรียนรู้ด้านภาษา!!!


เมื่อมีนักวิจัยออกมาระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า การเรียนรู้ภาษา มีผลต่อความจำของคนเรา ซึ่งกลุ่มนักวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ผู้ที่เคยเก่งภาษา เมื่อตอนต้นของชีวิตช่วงอายุ 20 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาความจำ แม้ว่าสมองจะมีร่องรอยความเสื่อมของสมองตามอายุขัย…

โดย นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์พบวี่แววว่า ผู้ที่เก่งในการใช้ภาษาเมื่อตอนหนุ่มสาว จะไม่ค่อยเป็นโรคสมองเสื่อม ตอนแก่เฒ่าเหมือนคนอื่น ซึ่งพวกเขาได้เบาะแสจากการศึกษาสมองของนางชี ในนิกายคาทอลิก เมื่อเสียชีวิตลงแล้ว จำนวน 38 ราย พร้อมกับตรวจเรียงความซึ่งพวกนางชีเคยแต่งเอาไว้ เมื่อสมัยที่อยู่ในวัย 20 ปีต้นๆ ได้พบว่า ผู้ที่เคยเก่งภาษาเมื่อตอนต้นของชีวิต จะไม่ค่อยมีปัญหาความจำ แม้ว่าสมองจะมีร่องรอยความเสื่อมของสมอง ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความสงสัยในโรคสมองเสื่อมอยู่ เพราะเจอว่าแม้สมองของบางคน จะมีร่องรอยความเสื่อมของสมองตามอายุขัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมกันหมดทุกคน ดร.ฮวน ทอรโคซัว หัวหน้านักวิจัย ได้กล่าวโดยสรุปว่า "ผลการศึกษาแสดงว่า การทดสอบความเก่งในการใช้ภาษา เมื่อสมัยตอนต้นๆ ของชีวิต อาจจะใช้ทำนายให้รู้ว่า โอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมของผู้นั้น เมื่อตอนอีก 50-60 ปีภายหลังได้”
 
body